อย.เปิดช่องศึกษาชีวสมมูลตปท.ผลิตยาสามัญรักษามะเร็ง-เอดส์

มติชน วันที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2555 หน้า 10

เมื่อวันที่ 19 มกราคม นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวภายหลังการประชุมชี้แจงและสร้างความเข้าใจถึงเกณฑ์การผลิตยาโดยอ้างอิงผลการศึกษาชีวสมมูลจากต่างประเทศให้ผู้ประกอบการนำเข้าผลิต และศูนย์ศึกษาชีวสมมูลทั่วประเทศกว่า 500 คน ที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ว่า โดยปกติการผลิตยาชนิดใดก็ตามจำเป็นต้องมีการศึกษาชีวสมมูลของ

ยานั้นๆ รวมทั้งยาสามัญ ซึ่งปัญหาคือ ต้องใช้เวลาในการศึกษานานร่วม 2-3 ปี ส่งผลให้ประเทศไทยไม่ค่อยพบการใช้ยาสามัญชนิดใหม่ๆ อย. จึงได้ออกประกาศสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เรื่อง การศึกษาชีวสมมูลของยาสามัญใหม่ โดยต้องมีผลการศึกษาจากสถาบันหรือห้องปฏิบัติการที่เชื่อถือได้จากต่างประเทศพ.ศ.2555 สามารถนำมาผ่านขั้นตอนการตรวจสอบของอย.อีกครั้ง แต่อาจมีบางฝ่ายไม่เข้าใจ

“ประกาศฉบับนี้ มุ่งเน้นผลิตภัณฑ์ยาที่มีความจำเป็นเร่งด่วนทางด้านสาธารณสุข ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยาที่มีความจำเป็นทางด้านสาธารณสุขต่อการป้องกันวินิจฉัย บำบัด บรรเทา หรือรักษาโรคของมนุษย์ที่มีความร้ายแรงหรือคุกคามต่อชีวิตของผู้ป่วย หรือที่เป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศ เช่น โรคมะเร็งโรคเอดส์ เป็นต้น ซึ่งไม่ต้องกังวลว่าการออกประกาศฉบับนี้จะเอื้อประโยชน์ต่อบริษัทยา เนื่องจากได้จำกัดให้บริษัทยา 1 แห่ง สามารถผลิตยาได้เพียง 1 ชนิดเท่านั้นและหากมีบริษัทยารายใดผลิตยาซ้ำกัน ก็ต้องมีการคัดเลือกตามขั้นตอน” นพ.พิพัฒน์กล่าว

นพ.พิพัฒน์กล่าวอีกว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างจัดทำรายชื่อยาสามัญที่จะอนุญาตให้ผลิตได้หลังจากมีผลการศึกษาชีวสมมูลดังกล่าว โดย อย.จะประกาศรายการยาเพื่อให้ผู้ประกอบการทราบล่วงหน้าอย่างน้อย 60 วันและกำหนดวันเปิดให้แสดงความประสงค์จะขอขึ้นทะเบียน โดยใช้ผลการศึกษาชีวสมมูลจากต่างประเทศเพื่อขึ้นทะเบียนยาสามัญใหม่รายการแรก ซึ่งหากมีหลายบริษัทก็จะมีขั้นตอนคัดเลือก เพื่อยื่นขอขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์ยาสามัญใหม่ภายใน 120 วัน ทั้งนี้ หากไม่ยื่นขึ้นทะเบียนภายในระยะเวลาที่กำหนด อย.จะระงับการอนุญาตทันที และบริษัทใดที่ได้รับการอนุญาตห้ามโอนถ่ายให้บริษัทอื่นเด็ดขาด คาดว่ากระบวนการทั้งหมดจะเสร็จสิ้นได้ประมาณ 6 เดือนเป็นอย่างเร็ว

ภก.วิทยา กุลสมบูรณ์ ผู้จัดการแผนงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่าสิ่งสำคัญต้องชัดเจนก่อนว่า เกณฑ์ดังกล่าวระหว่างบริษัทยาต่างประเทศ และในประเทศเหมือนหรือต่างกันหรือไม่ ซึ่งตรงนี้หากเหมือนกันก็ถือเป็นเรื่องที่ดี แต่ปัญหาคือ เรื่องนี้ยังไม่ทราบรายละเอียดชัดเจน ทางที่ดีที่สุด อย.ควรเปิดโอกาสให้ภาคส่วนอื่นๆ โดยเฉพาะภาคผู้บริโภค และนักวิชาการที่เกี่ยวข้องเข้ามาระดมความคิดเห็นตรงนี้ก่อนประกาศจริงด้วย เพราะการอนุญาตให้นำผลการศึกษาชีวสมมูลจากต่างประเทศมารับรองในไทยนั้น หลายคนอาจเกิดคำถามว่าจะส่งผลเสียต่ออุตสาหกรรมยาในไทยหรือไม่ ตรงนี้ต้องชัดเจน ดังนั้น ควรเปิดเวทีให้ภาคผู้บริโภคเข้าร่วมด้วยจะดีที่สุด

_____
หมายเหตุ
1. ประกาศสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เรื่อง การศึกษาชีวสมมูลของยาสามัญใหม่ซึ่งทำการศึกษาโดยสถาบันหรือห้องปฏิบัติการของต่างประเทศ ซึ่งเป็นประกาศที่ใช้ตั้งแต่ พ.ศ.2546
2. ประกาศสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เรื่อง คำแนะนำในการจัดทำโครงการร่างการศึกษาชีวสมมูลในมนุษย์.
http://wwwapp1.fda.moph.go.th/drug/zone_law/files/คำแนะนำในการจัดทำโครงการร่างการศึกษาชีวสมมูลในมนุษย์.pdf (3 สิงหาคม 2549)
ประกาศสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เรื่อง คำแนะนำในการจัดทำรายงานการศึกษาชีวสมมูลในมนุษย์และรูปแบบมาตรฐานรายงานการศึกษาชีวสมมูลในมนุษย์
http://wwwapp1.fda.moph.go.th/drug/zone_law/files/drug_113.pdf (21 มิถุนายน 2553)
3. ประกาศสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เรื่อง ASEAN Guidelines for the Conduct of Bioavailability and Bioequivalence Studies และคู่มือการศึกษาชีวประสิทธิผลและชีวสมมูลของผลิตภัณฑ์ยา
http://wwwapp1.fda.moph.go.th/drug/zone_law/files/drug100.pdf (6 มีนาคม 2552)
4. ประกาศสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เรื่อง การประเมินชีวสมมูลของผลิตภัณฑ์ยา clopidogrel
http://wwwapp1.fda.moph.go.th/drug/zone_law/files/drug_112.pdf (13 ตุลาคม 2553)
5. ประกาศสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เรื่อง หลักเกณฑ์การศึกษาชีวสมมูลของผลิตภัณฑ์ยาสามัญรูปแบบรับประทาน ที่มีการดัดแปลงการปลดปล่อยตัวยาสำคัญ (oral modified release dosage forms)  
http://wwwapp1.fda.moph.go.th/drug/zone_law/files/drug_108.pdf (1 ตุลาคม 2553)

By rparun เขียนใน drugs

ข่าวเกี่ยวกับการยื่นรายชื่อเสนอร่างพระราชบัญญัติยา พ.ศ. … ฉบับประชาชน

เข้าชื่อ1หมื่นเสนอร่างพ.ร.บ.ยาฉบับใหม่ (ฉบับประชาชน)
มติชน วันที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2555 หน้า 10

เมื่อวันที่ 19 มกราคม ที่รัฐสภา เครือข่ายภาคประชาชนได้แก่ แผนงานพัฒนากลไกเฝ้าระวังระบบยา, มูลนิธิสาธารณสุขกับการพัฒนา, มูลนิธิเภสัชชนบท, กลุ่มศึกษาปัญหายา, หน่วยปฏิบัติการวิจัยเภสัชศาสตร์สังคม คณะเภสัชศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, แผนงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ, มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวีและชมรมเภสัชชนบท กว่า 20 คนเดินทางเข้ายื่นรายชื่อผู้เสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ยา พ.ศ…. จำนวน 10,565 รายชื่อ ต่อนายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานรัฐสภา เพื่อพิจารณาตราเป็นกฎหมาย

ผศ.ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการแผนงานพัฒนากลไกเฝ้าระวังระบบยา(กพย.) ในฐานะตัวแทนเครือข่ายภาคประชาชน เปิดเผยว่า ปัจจุบันประชาชนต้องเผชิญปัญหาเกี่ยวกับการบริโภคยาเป็นจำนวนมาก เช่น พบยาที่ไม่ปลอดภัยในท้องตลาดและยาราคาแพง หรือการมีโฆษณาส่งเสริมการขายยาที่เกินจริง แต่ พ.ร.บ.ยาพ.ศ.2510 เป็นกฎหมายควบคุมที่ไม่ได้รับการแก้ไขมานานถึง 45 ปี ทำให้ไม่ทันต่อสถานการณ์ในปัจจุบันและคุ้มครองผู้บริโภคไม่ได้เท่าที่ควร ดังนั้น ภาคประชาชนจึงได้เสนอร่าง พ.ร.บ.ยา ฉบับประชาชน ได้แก่ 1.การมีกลไกที่จะทำให้ราคายาเป็นธรรมต่อประชาชน ป้องกันการค้ากำไรเกินควร 2.กำหนดสิทธิของประชาชนที่จะรู้ชื่อสามัญทางยา 3.คุ้มครองประชาชนให้ได้รับบริการด้านยาจากเภสัชกร 4.กำหนดสิทธิของประชาชนที่จะได้รับการชดเชยความเสียหายจากการใช้ยาโดยรวดเร็ว 5.มีกลไกจัดหายาจำเป็น เช่น ยากำพร้า ที่ไม่มีเอกชนสนใจทำการตลาด รวมทั้งการจัดหายาในภาวะวิกฤต ภัยพิบัติ 6.ปรับปรุงระบบการขึ้นทะเบียนตำรับยาของประเทศไทย 7.มีกลไกในการกำกับดูแลการส่งเสริมการขายยาและการโฆษณาที่เหมาะสม และ8.การใช้มาตรการทางปกครอง เป็นเครื่องมือใหม่ที่จะทำให้การบังคับใช้กฎหมายเป็นไปโดยมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว

 

ภาพข่าว: ล่าชื่อ
กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2555 หน้า 15

ภาพข่าว
ไทยโพสต์ วันที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2555 หน้า 3

ภาพข่าว: ยาแพง
โลกวันนี้ วันที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2555 หน้า  7

ภาพข่าว: ยื่ยรายชื่อ
บ้านเมือง วันที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2555 หน้า 3

คอลัมน์ ข่าวสั้นการเมือง: แก้ พ.ร.บ.ยา (พ.ร.บ.ยา)
ไทยรัฐ วันที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2555 หน้า 3

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการแผนงานพัฒนากลไก เฝ้าระวังระบบยาพร้อมคณะ ได้นำรายชื่อประชาชน 10,565 รายชื่อ ยื่นร่างแก้ไข พ.ร.บ.ยาต่อนายเจริญ จรรย์โกมลรองประธานสภาฯ เพื่อนำเสนอสภาฯ โดยร่างแก้ไข พ.ร.บ.ยาดังกล่าวเพื่อคุ้มครองสวัสดิภาพและความปลอดภัย ในการใช้ยาของประชาชน รวมถึงส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมภายในประเทศให้เข้มแข็ง.

ยื่นหมื่นชื่อเสนอร่าง พ.ร.บ.ยา
โพสต์ทูเดย์ วันที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2555 หน้า A6

 

เครือข่ายประชาชน-แพทย์ยื่นเสนอแก้ไขพ.ร.บ.ยาฉบับประชาชนต่อสภาฯ
http://www.suthichaiyoon.com/detail/20765

สำนักข่าวเนชั่น : เครือข่ายประชาชน-แพทย์ ยื่นเสนอแก้ไข พ.ร.บ.ยา ฉบับประชาชนต่อสภาฯ หวังสร้างกลไกกำหนดราคายาที่เป็นธรรม, คุ้มครองผู้บริโภคยา

รัฐสภา – 19 ม.ค. 55 – ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการแผนงานพัฒนากลไกเฝ้าระวังระบบยา (กพย.) พร้อมคณะได้นำรายชื่อประชาชน จำนวน 10,565 รายชื่อยื่นพร้อมร่างแก้ไขพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ยา พ.ศ. … ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมจาก พ.ร.บ. ยา พ.ศ.2510 ต่อ นายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 เพื่อพิจารณาให้เข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมสภาฯ ต่อไป ทั้งนี้ภญ.นิยดา กล่าวว่า เจตนารมย์ของการแก้ไข พ.ร.บ.ยา พ.ศ. 2510 คือ เพื่อคุ้มครองสวัสดิภาพและความปลอดภัยในการใช้ยาของประชาชน รวมถึงส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมการภายในประเทศให้เข็มแข็ง หากร่าง พ.ร.บ.ยา พ.ศ. … ได้รับการแก้ไขตามร่างของประชาชน แล้วจะทำให้ประชาชนได้รับประโยชน์ คือ 1.มีกลไกที่ทำให้ราคายาที่เป็นธรรมกับประชาชน ป้องกันการค้ากำไรที่เกินควร 2. กำหนดสิทธิของประชาชนที่จะรู้ชื่อสามัญทางยากและยาที่ตนเองใช้ 3.คุ้มครองประชาชนให้ได้รับการบริการด้านยาจากเภสัชกรอย่างแท้จริง ไม่ให้ผู้ที่ไม่รู้มาสร้างความเสี่ยงกับประชาชนได้อีก

4. กำหนดสิทธิของประชาชนที่จะได้รับการชดเชยความเสียหายจากการใช้ยาโดยรวดเร็ว 5.มีกลไกจัดหายาที่จำเป็น เช่น ยากำพร้า ที่ไม่มีเอกชนสนใจทำการตลาด รวมถึงการจัดหายาในภาวะวิกฤต 6.ปรับปรุงระบบการขึ้นทะเบียนตำรับยาของประเทศไทยให้มีความเข้มแข็ง 7.มีกลไกในการกำกับดูแลการส่งเสริมการขายยาและการโฆษณาที่เหมาะสม 8.การใช้มาตรการทางการปกครอง เป็นเครื่องมือใหม่ที่จะให้การบังคับใช้กฎหมายเป็นไปโดยประสิทธิภาพ รวดเร็ว และเหมาะสมกับสภาวะการณ์

By rparun เขียนใน drugs